ผู้เขียน หัวข้อ: Rec-1524 กรรมที่ติเตียนเพ่งโทษสายธรรมอื่น  (อ่าน 1361 ครั้ง)

thanapanyo

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 4681
    • ดูรายละเอียด




(ถอดความจากคลิป)

ธรรมะจากพระพุทธเจ้า วันที่ 18 ธันวาคม 2558
ตอนที่ 130 **กรรมที่ติเตียนเพ่งโทษสายธรรมอื่น**

+ +
เมื่อพระยาธรรมิกราชได้เข้าเฝ้านอบน้อมต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทูลถามคำถาม ::
“ ในยุคนี้สมัยนี้ มีสายธรรมก่อเกิดขึ้นมากมาย  แต่ละสายธรรมก็จะมีการสอนการปฏิบัติ ในแนวแต่ละอย่างที่แตกต่างกันออกไป แต่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศาสนาพุทธทั้งนั้น …
บางคนก็สอนให้ยึดติดในตำรา ในคัมภีร์ ไม่ให้เอาในแบบใหม่
บางคนก็สอนให้อยู่กับปัจจุบัน แล้วปฏิบัติอยู่ใน **ศีล สมาธิ และปัญญา**
บางคนก็สอนให้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ ตามความรู้ของตน …
...ในขณะที่มีสายธรรมขึ้นมากมายนั้น ก็มีการถกเถียง และมีการบอกกับบุคคลผู้อื่นว่า ของบุคคลผู้อื่นที่สอนสั่งอยู่นั้นผิด- ของตนเท่านั้นจึงจะถูก
...การที่เรามีการเพ่งโทษสายธรรมนั้นบ้าง.. สายธรรมนี้บ้าง.. บุคคลผู้อื่นว่าเขานั้นทำผิด- ของเราถูกที่สุดนั้น..
จะทำให้มีโทษ มีกรรมหรือเปล่า ? "

พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตาแสดงธรรมตอบกลับมา ดังนี้ว่า…
- - - -

พระยาธรรมเอ๋ย.. ยุคนี้ สมัยเดี๋ยวนี้ การที่ก่อเกิดสายธรรม เกิดขึ้นมากมายนั้น.. ก็เป็นเพราะว่า
ดวงจิตแต่ละดวงจิตที่เดินทางเข้าสู่พระนิพพานนั้น.. ก็เกิดการบำเพ็ญตามจริตของตน คือ เรารู้ยังไง/ เข้าใจยังไง /ปฏิบัติแบบไหน- แล้วพบกับความพ้นทุกข์-- จึงได้นำเอาการปฏิบัติในแนวทางของตนนั้น.. มาเผยแผ่

เมื่อมีหลวงปู่ 10 องค์-- ก็จึงมีสายการปฏิบัติ ใน 10 รูปแบบ
เมื่อมีพระอรหันต์เกิดขึ้น 10 องค์-- จึงมีแนวทางการเดินเข้าสู่พระนิพพาน 10 ทาง

พระยาธรรมเอ๋ย.. เหตุฉะนั้น จึงเป็นเรื่องปรกติ ลูกเอ๋ย.. ที่จะมี การปฏิบัติในหลากหลายรูปแบบ / มีการปฏิบัติหลากหลายแนวทาง

แต่การปฏิบัติในแนวทางต่างๆทั้งหลายเหล่านั้น ก็ล้วนแล้วแต่ไปถึงพระนิพพานทั้งนั้น  หากว่าอยู่ในกรอบของ ศีล สมาธิ และปัญญา รวมถึงบวกอีกข้อหนึ่ง คือ ธรรม- ธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ถ้าเกิดว่าอยู่ในกรอบของ**ศีล ธรรม สมาธิ และปัญญ** แล้วนั้น ย่อมเดินทางไม่ผิด.. ลูกเอ๋ย
ถึงแม้ว่าลูกนั้น..
- จะเดินไปทางซ้าย แล้วค่อยไปโผล่ทะเล
- เดินทางขวา แล้วค่อยไปโผล่ทะเล
- หรือเดินตรงกลาง เพื่อให้ไปโผล่ทะเล

ไปทางไหน ก็หากว่ามันมีทางไป และบุคคลที่ไปนั้นเคยไปถึงแล้ว-- ก็เดินไปได้ทั้งนั้น.. ลูกเอ๋ย
ขึ้นอยู่กับเรา ว่าเรานี้จะเลือกที่จะเดินในแนวทางแบบไหน / ในรูปแบบใด ที่จะทำให้เรานั้นเป็นสุข และทำได้
ที่มันตรงกับจริตของเรา -- เราก็สามารถเดินไปสู่พระนิพพานได้ทั้งนั้น

หนทางนั้น อาจจะมีหลายทางตามจริตของแต่ละคน แต่การเดินนั้นต้องเดินด้วย *ศีล*
ไม่ว่าเธอนั้น จะเดินด้วยหนทางใดก็ตาม หากไม่มีศีลแล้ว เธอนั้นก็จะเดินไปไม่ถึง.. ลูกเอ๋ย

เปรียบเสมือน ถึงแม้จะมีหนทางอยู่ แต่หากว่าเธอนั้น ใช้พาหนะในการเดินทางผิด-- เธอย่อมไปไม่ถึง

พระยาธรรมเอ๋ย.. การที่เรานี้ รู้แล้วว่าเส้นทางเส้นนี้ ได้มีคนที่เดินไปถึงแล้ว เราก็จงย่างก้าวเดินด้วย **ศีล ธรรม สมาธิ และปัญญา** -- สี่ย่างก้าวนี้ จะนำพาลูกไปสู่ทางพ้นทุกข์ได้.. ลูกเอ๋ย 
 
และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเดินทางด้วย *สี่ย่างก้าว*นี้ เดินด้วยทางสายกลาง
คือ ไม่ตึงจนเกินไป  //ไม่หย่อนจนเกินไป-- เดินไปอย่างพอกำลังที่ลูกนั้น พอจะทำได้ พอจะเดินได้
ทำให้ลูกนั้น สามารถประพฤติ ปฏิบัติ บำเพ็ญ เดินไปเรื่อยๆ ตามทางไปได้เรื่อยๆนั้น ย่อมไม่ผิดอะไร.. ลูกเอ๋ย

เดินทางสายกลาง แล้วบำเพ็ญไปสู่การชำระล้างกิเลสและตัณหาทั้งปวง...
ความรัก ความโกรธ และความลุ่มหลง ความอยาก ความดิ้นรน ความยึดติด…
... หากลูกนั้นปฏิบัติไป เพื่อชำระล้างสิ่งทั้งหลายเหล่านี้แล้ว-- ย่อมเดินไปถึงปลายทางทั้งนั้น.. ลูกเอ๋ย
> ไม่ว่าลูกนั้นจะเลือกสายปฏิบัติสายใดก็ตาม หากมุ่งสู่การชำระกิเลสแล้ว-- ย่อมไม่หลงทาง

ในปัจจุบันนี้ มีสายธรรมก่อเกิดขึ้นมากมาย มีการปฏิบัติหลากหลายรูปแบบ สอนตามครูบาอาจารย์ผู้นำ
แต่หากว่าลูกนั้น จะเลือกที่ปฏิบัติ -ตามสายธรรมใดสายธรรมหนึ่ง --ลูกนั้นต้องแน่ใจก่อนว่า
+ ในสายธรรมนี้ มีผู้ที่สำเร็จเป็นองค์พระอรหันต์แล้ว
+ ในสายธรรมนี้ มีผู้ที่ไปถึงปลายทางอย่างชัดเจน

เช่น สายของหลวงปู่ที่มีคนเคารพนับถือบูชามากมาย  และมีหลักฐานยืนยันกับเราได้ว่า หลวงปู่องค์นี้ ดับกิเลสตัณหาในตนได้แล้ว ทำให้เรารู้ / แน่ใจในสายธรรมนั้นแล้ว.. จึงค่อยปฏิบัติตาม.. ลูกเอ๋ย

หากว่าสายธรรมใด - ที่ยังไม่ถึงซึ่งความพ้นทุกข์เลยแม้สักคนหนึ่ง.. ก็เสี่ยงกับการที่จะหลงทาง
หากว่าสายธรรมใดที่ยัง
.. สั่งสอนไปในทางที่ตึงเกินไป / ไปในทางที่ไม่ใช่ทางสายกลาง
.. สั่งสอนให้ยึดติดกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง / ให้ลุ่มหลงกับอะไรสักสิ่งหนึ่ง / ยังมีการยึดติดอยู่
> สิ่งเหล่านั้นย่อมเดินทางผิด.. ลูกเอ๋ย -- 

การที่เรานั้นจะลุ่มหลงอยู่กับความดีก็ตาม แม้ว่ามันจะเป็นความดีก็ตาม
แต่หากว่ามันมีตัวหลง / ตัวยึดติดเข้าไปอยู่ในนั้นแล้ว-- ย่อมไม่ถูกต้อง.. ลูกเอ๋ย
ตามหลักที่ถูกต้องอย่างชัดเจนของพระพุทธศาสนา ก็คือ **บำเพ็ญเพื่อชำระล้างความยึดติด ความลุ่มหลง**

หากบำเพ็ญไปแล้ว ยังไปหลงดี ยึดดี หรือลุ่มหลงยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น -- ย่อมไม่ถูกต้อง.. ลูกเอ๋ย
เราไม่จำเป็นที่จะต้องไปดูหรอกลูก ว่า…
- สายธรรมไหน - ปฏิบัติถูก หรือปฏิบัติผิด
- ของเราถูก - ของเขาผิด

ไม่จำเป็นหรอกลูก ที่จะเพ่งโทษ หรือว่าบุคคลผู้อื่น เพราะแค่นั้น ก็ถือว่าเราทำผิดหลักของพระพุทธศาสนาแล้ว.. ลูกเอ๋ย
พระพุทธเจ้า นั้น..
* สอนให้ลูกดูตน อย่าดูบุคคลผู้อื่น
* สอนให้ลูกนั้น ประพฤติ ปฏิบัติ ชำระล้างตน ในจิตของตน

> จงดูตนให้สะอาด ขาว
> จงดูตนว่า ปฏิบัติอยู่ในกรอบของศีล ธรรม สมาธิ และปัญญา หรือเปล่า // บัดนี้ยังมีกิเลสหนักอยู่หรือเปล่า หนาอยู่หรือเปล่า
... ถ้าหากว่า ยังมีอยู่ ก็จงชำระล้าง ให้มันหมดไป …

และดูบุคคลผู้เดินตาม ช่วยดูแลเขา ช่วยชี้แนะชี้นำเขา ...
- ให้เขาเห็นแสงสว่าง
- ให้เขาเข้าใจในทางที่เราเดินนั้นอย่างมากที่สุด
- ให้เขาเข้าถึงความพ้นทุกข์ได้ เหมือนที่เราเป็น

แต่หากว่าเรานั้น มัวแต่เพ่งโทษบุคคลผู้อื่น หรือสายธรรมอื่นๆ ว่าเขานั้นเป็นอย่างนั้น ผิดอย่างนี้
> ย่อมทำให้ก่อเกิดโทษและกรรมกับตัวเราเอง ทำให้การเดินทางสู่ทางพ้นทุกข์ของเรานั้น มีอุปสรรคในการไปถึง.. ลูกเอ๋ย

เปรียบเสมือนการลงไป กรุงเทพฯ-- ก็มีหลายทางที่ไปถึงกรุงเทพฯ 
ถ้าจะไปก็ต้องไปด้วยยานพาหนะ..พอไปถึงแล้ว ก็ต้องสละทิ้งเสีย ซึ่งยานพาหนะเหล่านั้น..ไม่ควรไปยึดถือเอาไว้
เช่น ถ้านั่งรถไป.. ไปถึงก็ต้องลงจากรถ // นั่งเรือไป.. ไปถึงก็ต้องลงจากเรือ
> ไม่ใช่ไปนั่งอยู่ในรถ-ในเรือ อยู่อย่างนั้น.. ก็ไม่สามารถลงไปเพื่อทำประโยชน์ หรือก่อเกิดประโยชน์อื่นได้... 

เช่นเดียวกัน.. ลูกเอ๋ย เช่นเดียวกับการที่เรานั้นทำความดี ประพฤติ ปฏิบัติ เพื่อไปสู่พระนิพพาน
การไปสู่พระนิพพานได้นั้น มีหลายทาง แต่วิธีที่จะเดินทางไป คือ ต้องอยู่ในกรอบของศีล ธรรม สมาธิ และปัญญา 
ซึ่ง *สี่ย่างก้าว* นี้ มุ่งไปสู่การชำระล้างกิเลสตัณหาในใจตน
คือ ความรัก ความโลภ ความโกรธ ความลุ่มหลง ความอยาก ความยึดติด
... สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ คือ สิ่งที่เรา "ควรจะชำระล้าง"

ทำดีก็จงอย่ายึดดี ถือดี ในสิ่งที่เป็นของตน และเพ่งโทษบุคคลผู้อื่นเช่นนั้น ก็ไม่ถูกต้อง.. ลูกเอ๋ย

ตอนนี้ ยุคนี้ *คัมภีร์*นั้น.. ก็เป็นคัมภีร์ที่บันทึกมานานแล้ว และพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้อยู่
เปรียบเสมือน การที่ไม่มีผู้นำอย่างชัดเจน จึงทำให้มีหลากหลายสาย ที่เกิดขึ้นมาตามความรู้ของตน
> แต่ให้จงเดินทางไปด้วยความดี จะถูก //และจะไปถึง.. ลูกเอ๋ย

ถึงแม้จะมีหลายทางที่จะไปก็ตาม หากไปด้วยการไม่หลง ไม่ยึดติด ไปด้วยการทำความดี ไปด้วยศีล ธรรม สมาธิ ปัญญา ไปเพื่อชำระล้างสิ่งที่เป็นกิเลส และตัณหานั้น ย่อมถูกต้อง และไปถึงอย่างแท้จริง.. ลูกเอ๋ย

จงตั้งใจ ประพฤติ ปฏิบัติ กระทำหน้าที่ของตน ดูเส้นทางที่ตนเดินนั้นให้ดี ก็พอ
อย่ามัวมองแต่เส้นทางของบุคคลผู้อื่น
- อาจทำให้ตนนั้น หกล้ม
- อาจทำให้คนนั้น เดินไม่ถึงปลายทางด้วยซ้ำไป

ณ ปัจจุบันนี้ สมัยเดี๋ยวนี้ ไม่มีใครหรอกลูก ที่จะยืนยันได้ว่า สายธรรมของใครที่ถูกต้องที่สุด // ที่ดีที่สุด
...ของผู้อื่นนั้นผิดหมด

ไม่มีอะไรยืนยันได้เช่นนั้นหรอก.. ลูกเอ๋ย นอกจากการปฏิบัติ เพื่อถึงความพ้นทุกข์แล้ว อย่างแท้จริง
ตนปฏิบัติ
- จนข้ามฝั่งแห่งกองทุกข์ได้
- จนเข้าถึงพระนิพพานได้แล้ว
- และสามารถนำพาบุคคลผู้อื่น ให้ไปถึงได้เช่นเดียวกัน
- และสามารถสั่งสอนบุคคลให้ก่อเกิดเป็น*องค์พระอรหันต์* ..ได้มากมาย

สิ่งที่ได้จากผลของการปฏิบัตินั่นแหละ-- จึงจะเป็นการยืนยันได้ว่า "นั่นคือทางที่ถูกต้อง"
และที่สำคัญก็คือ ปฏิบัติมาเพื่อดับการเกิด ไม่ได้ปฏิบัติมาเพื่อยืนยันกับใคร หรือโอ้อวดกับใคร..
"ว่าตนถูกต้องดีแล้ว ว่าตนนั้นดีแล้ว"
< ปฏิบัติไป ก็เพื่อดับการเกิดเท่านั้น.. ลูกเอ๋ย >

ฉะนั้น "การปฏิบัติ" จึงเป็นสิ่งเดียวที่จะรู้ได้ด้วยตน ว่าตนนั้นพ้นทุกข์แล้วหรือยัง // ข้ามฝั่งแห่งวัฏสงสารได้แล้วหรือยัง

จงดูที่ตนเถิดลูก.. อย่าไปดูที่บุคคลผู้อื่น !
จงนำตนให้ข้ามพ้นวัฏสงสารให้ได้ก่อนเถิดลูก.. แล้วจึงจะสอนสั่งให้ผู้ที่เดินตามนั้น เดินให้ข้าม / ให้พ้น ..เหมือนกันกับตน

 แต่ไม่ใช่เพ่งโทษบุคคลผู้อื่น ว่าถูก / ว่าผิด / ว่าไม่ดี อย่างนั้น.. ลูกเอ๋ย
เพราะถ้าเกิดว่าจิตที่ยังมีการเพ่งโทษบุคคลผู้อื่นนั้น ก็คงยังไม่พ้นฝั่ง

จงปฏิบัติ และดูตนนั่นแหละ**ถูกต้องที่สุดแล้ว**
 
การที่เราสร้างกรรม เพ่งโทษผู้อื่น-- ก็จะทำให้เรานั้นถูกเพ่งโทษ
การที่เราขัดขวาง การสอนธรรม การทำความดีของผู้อื่น-- ก็จะส่งผลกรรม
> ให้การทำดีของเราถูกขัดขวาง
> ทำให้เรานั้นทำความดีอย่างยากลำบากเหมือนกัน

// จงดูทางแห่งตน อย่ากีดขวางทางผู้อื่น-- ทางของตนนั้น จึงจะไม่มีอะไรกีดขวาง
// จงประพฤติดี ปฏิบัติดี อยู่ในทางสายกลาง
// จงเดินทางด้วยศีล ธรรม สมาธิ และปัญญา
// จงระลึกรู้ว่า เพื่อดับกิเลส ตัณหาในใจตนเท่านั้น
--ไม่ใช่จุดประสงค์อื่นเลย  --

สาธุ
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 25, 2016, 09:01:21 pm โดย thanapanyo »