ธรรมะกึ่งพุทธกาล > คัมภีร์ธรรมกึ่งพุทธกาล

Rec-3557 การที่จะพ้นทุกข์

(1/1)

thanapanyo:


คัมภีร์ธรรมกึ่งพุทธกาล   วันที่ 12  เมษายน  2564
ตอนที่ 140  **การที่จะพ้นทุกข์**
+ +   

ในเช้าของวันที่  11  เมษายน  พ.ศ. 2564     ณ สวนธรรมิกราช
เมื่อท่านพระยาธรรมิกราช ได้กราบนอบน้อมเข้าเฝ้าต่อองค์พระพุทธบิดา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่าน เพื่อเฝ้าฟังธรรมแล้ว  จึงได้นอบน้อมเฝ้าทูลถามพระพุทธองค์ท่านไป ดังนี้ว่า...

“ ข้าแต่องค์พระพุทธบิดา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าขา..
วันนี้ ลูกปรารถนาจะขอเฝ้าทูลถามถึง ข้อธรรม บทที่ 139  น่ะเจ้าค่ะ

คนเรานั้น กว่าจะคลายทุกข์.. ก็ต่อเมื่อเห็นทุกข์นั้น อย่างเต็มที่
อย่างนั้นใช่หรือเปล่า พระพุทธเจ้าค่ะ  ?

เพราะลูกสังเกตเห็นว่า บางสิ่ง ถ้าทุกข์แล้ว แต่ยังทุกข์ไม่สุด ไม่ทุกข์มากพอ..
... ก็จะยังไม่คลายจากทุกข์นั้น
-- ทุกคน ก็เลยยังจมกับความทุกข์อยู่...

แต่บางครั้ง บางคน ก็เพลิดเพลินไป นึกว่าจะไม่ทุกข์ 
ไม่ตั้งหลัก ไม่มีการปฏิบัติ  หรือเตรียมตัวอะไรเลย..
พอเมื่อเจอกับความทุกข์มากๆ - ก็ตั้งหลักไม่ได้  !
-- ก็กลายเป็นบุคคลที่ทุกข์มาก จนเสียสติไป ก็มี…
... เช่นนี้ พระพุทธเจ้าค่ะ

ฉะนั้น ขอพระพุทธองค์โปรดทรงเมตตา  แสดงธรรมเรื่อง คลายความทุกข์ - เมื่อเห็นทุกข์
ให้ลูกได้ฟังด้วยเถิด พระพุทธเจ้าค่ะ ”
- - - -

ก็ดีแล้วละ พระยาธรรมเอย..  ถ้าอย่างนั้น ก็จงตั้งใจฟังให้ดีนะ
ฟังแล้ว.. ก็น้อมไปปฏิบัติตาม  ฝึกฝนตาม
ให้รู้ตาม เห็นตาม เข้าใจตามนะ.. พระยาธรรม

ธรรมชาติดวงจิตทั้งหลาย.. ก็เป็นเช่นนี้ละ
ถ้าไม่ได้เจออะไรกับตนเอง
- ที่มันทุกข์มากๆ 
- ที่มันรู้สึกว่า.. มันเป็นความทุกข์มากมายเหลือเกิน กับสิ่งนั้น
-- ก็จะไม่คลายจากสิ่งนั้นเลย …

เพราะเขาก็ยังคงรู้สึกว่า.. เป็นธรรมดา 
รู้สึกว่า.. เดี๋ยวก็หายทุกข์
เพราะเขาก็มักจะไปหาความสุขอันจอมปลอม - มาปลอบประโลมตนเอง
ให้คิดว่า นั่นละ คือการหายทุกข์แล้ว...

พระยาธรรมเอย..  และบุคคลบางกลุ่ม บางดวงจิตนั้น -- ต่อให้จะทุกข์มากเพียงใด..
เขาเหล่านั้น.. ก็ไม่รู้ว่าจะออกจากทุกข์นั้นอย่างไร
เขาก็ยังคงจมอยู่กับความทุกข์เหล่านั้น จมอยู่เช่นนั้นไป…

แล้วเมื่อเขาดีขึ้นมาบ้าง --  เขาก็จะคิดว่า นั่นละ คือดีขึ้นแล้ว
แล้วตัวของเขา ก็จะหลงลืมไปว่า.. มันเป็นความทุกข์  มันเป็นสิ่งที่เราไม่ควรกระทำ
ไม่ควรปล่อยจิตของตน - ให้ตกต่ำลงไปอีก...

บุคคลบางพวก -- เขาก็จมอยู่เช่นนี้ อย่างนี้ละ.. พระยาธรรม
ถูกทำโทษอยู่ในนรกอเวจี  ทุกข์ทรมานแสนสาหัสกันมากเพียงใด.. 
... ก็เลยยังวนยังเวียนอยู่ - ยังไม่หาทางหลุดพ้นอยู่..

บุคคลบางจำพวก - เมื่อจมอยู่กับความทุกข์เหล่านี้
พอพ้นทุกข์แล้ว.. ก็ไม่ได้เห็นว่า มันคือความทุกข์
-- จึงเวียนวนกันอยู่ เช่นนั้น อย่างนั้น.. พระยาธรรมเอย 

เพราะเขาไม่สามารถเห็นตามความเป็นจริงได้ว่า 
การเวียนวนอยู่ในวัฏสงสารนี้ - มันเป็นทุกข์มากเพียงใด  !

เพราะแท้ที่จริงแล้ว.. เขาทุกข์อยู่
-- แต่เขานั้นไม่รู้จักทุกข์ น่ะลูก

คือ ไม่รู้ว่า อะไรคือทุกข์
เขารู้ก็เลยรู้ว่าทุกข์ -- แต่ไม่รู้ว่าอะไรคือทุกข์ ทุกข์คืออะไร

ฉะนั้น พระยาธรรมเอย..  คนกลุ่มนี้ - ที่เขาจมอยู่กับทุกข์  ไม่ว่าจะทุกข์มากเพียงใด
-- เขาก็เลยไม่รู้ว่า จะหาวิธีออกจากทุกข์อย่างไร…

แต่ พระยาธรรมเอย..  บุคคลในกลุ่มที่- เขารู้จักทุกข์อย่างแท้จริง
ก็คือ บุคคลผู้เห็นความทุกข์ คือ การเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย
เห็นการพลัดพรากจากสิ่งของอันเป็นที่รัก ที่พอใจทั้งหลาย
เห็นว่า.. การเวียนว่าย เวียนวนอยู่ในนี้นั้น - เป็นทุกข์ *

มีกลุ่มดวงจิตเหล่านี้ ละลูก.. ที่เขานั้นรู้จักความทุกข์อย่างแท้จริง
เพราะเขารู้จริงแล้วว่า..  ทุกข์ในวัฏสงสารนี้ คือ
- การเกิด แก่ เจ็บ ตาย
- การเวียนว่ายตายเกิดอยู่

ฉะนั้น พระยาธรรมเอย..  บุคคลผู้รู้ทุกข์นั้น จึงแบ่งเป็น 2 จำพวก 
จำพวกที่ 1  ทุกข์ - ก็รู้  รู้ว่าทุกข์ 
-- แต่ก็จมอยู่ เพราะไม่รู้จักทุกข์ที่แท้จริง --

บุคคลกลุ่มที่ 2 นั้น - เขาเหล่านั้น รู้จักทุกข์อย่างแท้จริง คือ รู้ว่า..
การเกิด แก่ เจ็บ ตาย  การเวียนว่ายตายเกิดนั้น - มันเป็นทุกข์
การจมอยู่ หลงอยู่เช่นนี้นั้น - มันเป็นทุกข์

ซึ่งบุคคล ประเภทที่ 2 นี่ละลูก - ที่เป็นกลุ่มคนที่เขาทั้งหลายเหล่านั้น.. รู้จักทุกข์อย่างแท้จริง *

ฉะนั้น พระยาธรรมเอย..  ถ้าหากว่าลูกจะถามว่า จะคลายทุกข์ได้ - ก็ต่อเมื่อเห็นทุกข์

ลูกก็จงทำความเข้าใจว่า..
บุคคลผู้เห็นทุกข์  คือ บุคคลผู้ที่รู้ว่า ความทุกข์นั้นเป็นเช่นไร
 
ทุกข์  ด้วยการเกิด ทุกข์ด้วยการแก่ การเจ็บ และการตาย  การพลัดพรากจากสิ่งของ อันเป็นที่รักที่พอใจ
ทุกข์  เพราะการเวียนว่ายตายเกิด
ทุกข์  เพราะถูกอำนาจกิเลสตัณหา  กรรมวิบากครอบงำอยู่
-- จิตเหล่านี้ละลูก คือ จิตที่รู้ทุกข์อย่างแท้จริง --

ฉะนั้น.. ให้ลูกลองพิจารณาถึง ประการที่ 1 -- เช่นนี้ว่า
เมื่อลูกทั้งหลาย.. จะเป็นบุคคลผู้รู้ทุกข์อย่างแท้จริง
ลูกจะต้องเป็นบุคคล - ผู้รู้จักความทุกข์
... โดยเข้าใจตรงตามความเป็นจริงเช่นนี้..

ทุกข์ คือ การเกิด การแก่ การเจ็บ  และการตาย 
ทุกข์ คือ การพลัดพรากจากสิ่งของ อันเป็นที่รักที่พอใจ
ทุกข์ คือ การถูกครอบงำ ด้วยอำนาจแห่งกิเลสตัณหา  กรรมวิบาก
-- พาให้เวียนวนไป ชดใช้กรรมไป...

สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ คือ พิษร้าย ทำใจดวงจิตของเรา - ให้จมอยู่กับทะเลทุกข์นี้
ทุกข์อยู่ในวัฏสงสารนี้ -- หาที่สิ้นสุดไม่เจอ…

เมื่อลูกนั้น.. เป็นบุคคล ผู้ที่รู้จักทุกข์ เช่นนี้แล้ว
ลูกก็จะรู้ว่า.. นั่นคือ การจมอยู่ ทุกข์อยู่ หลงอยู่ ในที่แห่งนี้
... แล้วลูกก็จะแสวงหา หนทางที่จะออกจากที่นี่ไป...

ลูกก็จะรู้ตื่น ไม่ปรารถนาที่จะจมอยู่กับอำนาจแห่งทุกข์ที่นี่.. อีกต่อไป

ลูกเอ๋ย..  แต่ถ้าหากว่า ลูกนั้นเพียงแค่รู้ว่าทุกข์ 
ถ้ารู้ว่าทุกข์นั้น.. สัตว์นรก เปรต อสุรกาย  สัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย
-- เขาก็รู้ว่าทุกข์กันทั้งนั้นละลูก..

แต่เขารู้ว่าเขากำลังทุกข์อยู่  แล้วก็หาสิ่งที่มาช่วยทำให้ตนนั้น รู้สึกคลายทุกข์แล้ว - ด้วยความสุขอันจอมปลอม
แล้วก็เวียนว่ายตายเกิด เช่นนั้น อย่างนั้นอยู่…

ความทุกข์เช่นนี้ - ไม่ใช่การเห็นทุกข์
และสิ่งที่เป็นเช่นนี้ - ไม่ได้ทำให้คลายจากความทุกข์
ไม่ได้ทำให้เรา.. เห็นหนทางพ้นทุกข์ ลูก

ฉะนั้น.. เมื่อลูกทั้งหลาย รู้จักทุกข์อย่างแท้จริง *
ลูกทั้งหลาย.. รู้ว่าตนกำลังจมอยู่กับความทุกข์เหล่านั้น...

ลูกย่อมจะเป็นบุคคล.. ผู้เบื่อหน่ายในวัฏสงสาร  ปรารถนาที่จะหาทางออกจากทุกข์..
ลูก จึงจะเป็นบุคคลผู้ที่ เห็นทุกข์
-- แล้วก็จะคลายจากความทุกข์นั้นได้ อย่างแท้จริง ++

ทีนี้ ต่อไป ประการที่ 2 --
ลูกก็ดำเนินสู่การเสาะแสวงหา  ค้นหาเหตุแห่งทุกข์ - และดับเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย
ลูกย่อมเข้าใจ ในธรรมคำสอนขององค์พระพุทธเจ้า 
… เพราะลูกได้เห็นตาม ตั้งแต่ ประการที่ 1

ทีนี้ ลูกย่อมรู้ว่า.. เหตุแห่งทุกข์นั้น  คือ ความหลง  ความอยาก
คือ การที่ทำให้เรานี้ ดิ้นรนขวนขวาย  เร่าร้อนรุ่มร้อน จมอยู่
สร้างเวรสร้างกรรม  ก่อภพก่อชาติ

-- ความหลง ความอยากนี่ละ คือ เชื้อแห่งการเกิด --
บุคคลผู้ใดก็ตาม ที่ถ้าปราศจากเชื้อเหล่านี้ -- ย่อมไม่มีการเกิดอีกต่อไป…

ทีนี้ เมื่อลูกได้เห็นเหตุแล้ว.. 
ลูกย่อมเสาะแสวงหา วิธีดับเหตุแห่งทุกข์นี้ ให้จนได้
และย่อมแน่นอนละลูก ว่า.. ลูกนั้นจะเข้าใจถึงธรรมคำสอนขององค์พระพุทธเจ้า - เป็นลำดับๆ ต่อไป…

จนลูกสามารถ ที่จะค่อยๆ ถอดถอนกิเลสตัณหา
คือ ความหลง ความอยาก - ที่ครอบงำจิตของลูกได้.. ทีละนิดทีละหน่อย 
.. จนกว่าจะเบาบางลง
.. จนกว่า มันจะไม่ครอบงำจิตของลูก อีกต่อไป..

ดับเหตุแห่งการเกิดแล้ว -- การเกิดก็เลยดับไปด้วย  +
-- ทุกข์ก็เลยหายไป เช่นนี้ละ.. พระยาธรรม

ต่อไป เข้าสู่ประการที่ 3 --
ลูกนั้น.. ก็จะได้รู้ว่า แท้ที่จริง.. การพ้นทุกข์นั้น เป็นเช่นไร

เพราะลูกรู้แล้วว่า.. ถ้าหากว่าลูกนั้น  ได้ปราศจากเชื้อแห่งการเกิด
คือ การหลง การอยากนั้น
เหตุแห่งการเกิดนั้น  ปราศจากแล้ว
ลูกย่อมเป็นสุข 
ลูกย่อมสบาย

เพราะการเกิด - เป็นทุกข์
และเหตุแห่งการเกิด ถ้ามี - ก็เกิดอยู่ร่ำไป
ดับเหตุแล้ว.. การเกิดไม่มี  ความทุกข์ย่อมไม่มี
ลูกย่อมเห็นความพ้นทุกข์ว่า.. เป็นเช่นไร

ลูกย่อมเห็นได้ว่า..
สิ่งที่ดีกว่า การเสพกามนั้น คือ การไม่เสพกาม
สิ่งที่ดีกว่า การหลงนั้น  คือ การไม่หลง
สิ่งที่ดีกว่า การยึดนั้น  คือ การไม่ยึด
สิ่งที่ดีกว่า ความอยากนั้น  ก็คือ การสักแต่ว่า - อยู่เหนือความอยาก และความไม่อยากทั้งปวง
สิ่งที่ดีกว่า ความโกรธนั้น  คือ ไม่โกรธ
สิ่งที่ดีกว่า ความโลภ  ก็คือ ไม่โลภ

ลูกย่อมเห็น และรู้ดีว่า สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ คือ ความหลง ความอยาก
หรือว่า ความอยาก - ความไม่อยากทั้งหลายเหล่านั้น
-- กิเลสตัณหานั้น มันคือ เหตุแห่งทุกข์ **

ลูกทั้งหลาย.. ย่อมเห็นได้ชัดเจน 
เหมือนบุคคลผู้เป็นไข้  แล้วหายจากไข้
-- ย่อมรู้ว่า.. ตนสบายดีแล้ว

เหมือนบุคคล ผู้แบกของหนัก.. แล้วปลดภาระอันนั้นวางไว้ +
ย่อมรู้ดีว่า.. ตนเบาสบายแล้ว

เหมือนบุคคล ผู้ที่อยู่กลางดวงไฟ
 ได้ออกจากที่นั่นมา -- ย่อมรู้ว่า เย็นสบายดีแล้ว
... เช่นนี้ละ พระยาธรรมเอย 

ฉะนั้น  ลูกก็จะรู้ว่า..
ถ้าดับเหตุแห่งทุกข์แล้ว.. จิตของลูกย่อมพ้นทุกข์
ถึงซึ่งนิพพานเป็นแน่แท้

และอารมณ์แห่งนิพพานนั้น เป็นเช่นไร ?
ก็คือ เป็นการปราศจากเชื้อ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย
เชื้อที่ทำให้จมอยู่ ทุกข์อยู่  คือ กิเลสตัณหานั้น

ลูกย่อมเห็นได้ว่า.. ความสุขที่แท้จริง คืออะไร ?

เมื่อลูกเห็นเช่นนี้ อย่างนี้แล้ว..
ลูกย่อมพร้อมที่จะเข้าใจ ตามคำสอนขององค์พระพุทธเจ้า คือ..
ดำเนินชีวิต ให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ -- ด้วยการมีศีล มีธรรม มีสมาธิ และปัญญา

เมื่อมีศีล ธรรม สมาธิ และปัญญา  ลูกดำเนินชีวิต อยู่บนเส้นทางนี้...
-- ลูกย่อมจะสามารถไปถึงฝั่งแห่งทะเลทุกข์ได้ ในที่สุด --
... เช่นนี้ละ พระยาธรรม

ลูกก็ลองทำความเข้าใจตามนี้ดูนะ ว่า..
แท้ที่จริงแล้ว.. ใช่ว่าคนที่ทุกข์นั้น - จะรู้จักที่จะหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์ ทุกดวงจิต

เพราะถ้าไม่อย่างนั้น..
คนที่ทุกข์มาก
คนที่จมอยู่ หลงอยู่
และอยู่ในนรกอเวจี ทั้งหลายเหล่านั้น
-- คงจะพ้นทุกข์กัน - เพราะเห็นทุกข์นี้มาก

ฉะนั้น..  ไม่ใช่เพียงแค่เห็นทุกข์ ลูก
ต้องรู้จักความทุกข์นั้นด้วย  และรู้ตามความเป็นจริง
รู้อย่างถูกต้อง

รู้ว่า..
อะไรคือ ทุกข์ 
อะไรคือ พ้นทุกข์

ทุกข์  คือ การเกิด แก่ เจ็บ ตาย   การพลัดพรากจาก  การเวียนว่ายอยู่ในวัฏสงสาร
พ้นทุกข์  คือ ไปสู่แดนพระนิพพาน - ตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
รู้ทุกข์  แล้วก็รู้เหตุแห่งทุกข์ 
แล้วก็รู้ว่า พ้นทุกข์ เป็นเช่นไร

จึงค่อยรู้การดำเนินชีวิต - ตามรอยองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า 
ตามคำสอน คือ อยู่ในกรอบแห่ง ศีล ธรรม สมาธิ และปัญญา 
-- แล้วลูกก็จึงจะพ้นทุกข์ได้ --

ฉะนั้น พระยาธรรมเอย.. 
บุคคลที่รู้ - ต้องรู้ตามความเป็นจริง
บุคคลผู้เห็น - ต้องเห็นตามความเป็นจริง เช่นนี้ด้วย
-- จึงจะพ้นจากความทุกข์ ลูก...

ลูกเอ๋ย..  ฉะนั้น การที่ลูกทั้งหลาย จะพ้นทุกข์ได้
ใช่ว่า ตนนั้นจมอยู่กับความทุกข์มากๆ -- แล้วก็จะพ้นทุกข์ได้เลย  !

ถ้าขาดความรู้แจ้ง ตามความเป็นจริง
ขาดการเห็นทุกข์  รู้จักทุกข์อย่างแท้จริง
-- ก็อาจทุกข์ฟรี  จมอยู่กับความทุกข์ไป ++
... เช่นนั้น อย่างนั้น..

และอาจได้มาด้วยความสุขอันจอมปลอม  แล้วก็หลงกันไป เช่นนั้น
-- หาที่สิ้นสุดไม่ได้หรอกลูก..

ฉะนั้น พระยาธรรมเอย..
จะรู้ทุกข์ - ก็ให้มันรู้อย่างแท้จริง ลูก
ลูกนั้น.. จึงจะสามารถคลายทุกข์ได้ --

จงจำไว้เช่นนี้นะ.. พระยาธรรม
แล้วก็น้อมไปเผยแผ่ ให้กับญาติธรรมทั้งหลาย.. ได้พิจารณาตามด้วยนะ

+ +
พระยาธรรม ::  สาธุ พระพุทธเจ้าค่ะ
กราบขอบพระคุณพระพุทธองค์  ที่ทรงเมตตาแสดงธรรมนี้ให้ลูกได้ฟัง นะเจ้าคะ

ลูกพอจะเข้าใจแล้ว พระพุทธเจ้าค่ะ ว่า.. 
แท้ที่จริง.. บุคคลผู้เห็นทุกข์นั้น ยังมี 2 กลุ่ม
 
และถ้าหากว่า เราเป็นกลุ่ม- ที่
เห็นทุกข์ อย่างมีปัญญา 
เห็นทุกข์ตามองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
เห็นอย่างถูกต้อง
-- เราจึงเป็นกลุ่ม ที่มีโอกาสที่จะพ้นทุกข์ได้ **

แต่ถ้าหากว่าเราเห็น อย่างผู้ลุ่มหลง โง่เขลาเบาปัญญาอยู่
-- เราก็จะยังทุกข์อยู่ จมอยู่…

ฉะนั้น  เราก็ควรที่จะเห็นทุกข์ - อย่างมีสติ และปัญญา
เห็นทุกข์แล้ว.. ก็ควรที่จะศึกษาธรรม ให้เข้าใจตามคำสอนของพระพุทธองค์
ถึง เหตุแห่งทุกข์

รู้จักเหตุแห่งทุกข์แล้ว..
ก็ควรที่จะรู้ว่า.. ที่ที่พ้นทุกข์นั้น คือ ที่ใด เป็นแบบไหน  ?

เข้าใจนิโรธ  คือ ความหลุดพ้น  คือ พระนิพพานนั้นอย่างแท้จริงแล้ว
ก็น้อมปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธองค์ - ด้วยการดำเนินชีวิต
อยู่บนกรอบของ ศีล ธรรม สมาธิ และปัญญา

-- ลูกก็จะสามารถเข้าสู่ความหลุดพ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง
เจอความสุขที่แท้จริง พระพุทธเจ้าค่ะ ++

... ลูกพอจะเข้าใจเช่นนี้ อย่างนี้แล้ว พระพุทธเจ้าค่ะ

ลูกจะน้อมไปเผยแผ่ให้ญาติธรรมทั้งหลาย ได้พิจารณาตาม..
ให้รู้ตาม เห็นตาม นะเจ้าคะ

วันนี้ ลูกต้องกราบขอลาก่อน  เอาไว้ลูกจะมาเฝ้าฟังธรรมใหม่  พระพุทธเจ้าค่ะ...

สาธุ










นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

Go to full version