ผู้เขียน หัวข้อ: Rec-3554 รู้แจ้งในกฎของกรรม  (อ่าน 645 ครั้ง)

thanapanyo

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 4597
    • ดูรายละเอียด
Rec-3554 รู้แจ้งในกฎของกรรม
« เมื่อ: เมษายน 10, 2021, 04:00:32 am »


คัมภีร์ธรรมกึ่งพุทธกาล   วันที่  9  เมษายน  2564
ตอนที่ 137  **รู้แจ้งในกฎของกรรม**
+ +   

ในเช้าของวันที่  8  เมษายน  พ.ศ. 2564     ณ สวนธรรมิกราช
เมื่อท่านพระยาธรรมิกราช ได้กราบนอบน้อมเข้าเฝ้าต่อองค์พระพุทธองค์ท่าน เพื่อเฝ้าฟังธรรมแล้ว  จึงได้นอบน้อมเฝ้าทูลถามพระพุทธองค์ท่านไป ดังนี้ว่า...

“ ข้าแต่องค์พระพุทธบิดา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าขา..
ลูกมีความรู้สึกว่า.. ลูกได้รู้แจ้ง เข้าใจในกฎแห่งกรรม ในระดับที่ละเอียดขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
กว่าที่เคยรู้มา  คือว่าชัดเจนมากเพิ่มขึ้น น่ะเจ้าค่ะ

กฎแห่งกรรมในระดับที่ชัดเจนมากเพิ่มขึ้นนั้น..  ลูกปรารถนาจะขอถึงพระพุทธองค์ โปรดทรงอธิบายธรรมนั้นให้ลูกได้เข้าใจเพิ่มเติม จากที่ลูกได้รู้ ได้เข้าใจ - ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าค่ะ
- - - -

เอาละ พระยาธรรมเอย..   ถ้าอย่างนั้นก็จงตั้งใจฟังให้ดี
ฟังแล้ว ก็จงพิจารณาตามนะ ว่าจะเหมือนดังกับที่ลูกนั้นได้รู้ ได้เข้าใจ ได้เห็น ในช่วงนี้หรือเปล่า

กฎแห่งกรรมนั้น - เขาก็มีกฎตายตัวของเขาอยู่แล้วละลูก ว่า..
บุคคลผู้ใด ทำสิ่งใดแล้ว..
บุคคลผู้นั้น ต้องได้รับผลของสิ่งที่ทำนั้น
-- ไม่ว่าจะทำดี  หรือไม่ดีก็ตาม..

และย่อมแน่นอนละลูก ว่าผลการกระทำนั้น - มันก็จะต้องส่งผลมาจาก ทั้งกาย วาจา และใจ
ถ้าหากว่าเรานี้ ทำกรรมไปด้วยเหตุปัจจัยใด - เจือปนอยู่ในนั้น
-- กรรมนั้นก็ย่อมต้องก่อเกิด  ส่งผลให้เป็นเช่นนั้น อย่างนั้น  --

เช่น ถ้าหากว่าเรา ทำคุณงามความดี
แต่ความดีของเรานั้น - เจือปนไปด้วยกิเลสตัณหา คือ ความหลง ความอยาก
-- เราก็จะได้ผลมา.. ก็คือ มีความหลง ความอยากส่งผลกลับมาให้เราได้รับด้วย

ถ้าเรานี้ทำกรรมนั้นไป.. อย่างถูกต้องบริสุทธิ์ ปราศจากกิเลสตัณหา
กรรมดีอันบริสุทธิ์ที่เราได้ทำไปนั้น -- ก็ย่อมส่งผลมาตามนั้น...

เราทำไปโดยที่เรานี้ไม่ทันได้คิด ไม่ทันได้ระวัง.. ก็เลยทำกรรมนั้นไป
กรรมนั้นจะดี- ไม่ดียังไง -- มันก็ส่งผลมาตามที่เราทำ

พระยาธรรมเอย..  และบุคคลผู้ทำกรรมนั้น.. ก็มีอยู่ 2 แบบ
แบบที่ 1 คือ ทำไปอย่างผู้ลุ่มหลง  จมอยู่ในวัฏสงสาร
ทำดีก็ดี  ทำไม่ดีก็ดี - ย่อมอยู่ในรูปแบบของการทำ โดยอยู่ใต้อำนาจแห่งกิเลสตัณหา
- เป็นผู้สั่งให้ทำกรรมไป...

ส่วนในแบบที่ 2 นั้น -- บุคคลผู้ที่ทำกรรมไป อย่างรู้ตื่น
ทำไป ด้วยการที่รู้แล้ว  รู้ถึงเหตุถึงผลในสิ่งที่ทำ
ทำไป เพียงสักแต่ว่า  ทำอย่างผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้เข้าใจแล้ว..
-- แล้วก็ทำไป ตามเหตุตามปัจจัย - ทำแล้ว ก็แล้วไป..

ส่งผลกลับมายังไง.. ก็เห็นตามเหตุที่ส่งกลับมา
-- แล้วก็ดำเนินต่อไป...

ฉะนั้น..  กรรม
ทำแบบ  ผู้ลุ่มหลง จมอยู่
ทำแบบ  ผู้หลุดพ้น
ทำแบบ  ที่เจือปนไปด้วยกิเลสตัณหา
ทำแบบที่ อยู่เหนือกิเลสตัณหา
-- นั่นคือ การกระทำทั้งหมด...

แต่สำคัญก็คือ บุคคลผู้ใดทำอะไรไปแล้ว
-- ผลของบุคคลผู้นั้นที่ได้ทำ.. ก็ย่อมจะส่งผลมา  แล้วก็เป็นไปตามสิ่งที่ตนนั้นได้ทำ ++

จะส่งผลมา- ให้โทษ
จะส่งผลมา- ให้คุณ
-- ก็เป็นไป ตามเหตุที่บุคคลนั้นๆ ได้ทำ --

จะมีโทษมาก จะมีโทษน้อย - ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลผู้นั้น ได้ทำไป  +
จะมีผลมาก หรือผลน้อย - ก็ขึ้นอยู่กับบุคคลนั้น ได้สร้างได้ทำไป +

เช่นนี้ละ พระยาธรรมเอย..
นี่คือ สิ่งที่ลูกควรจะพิจารณา เป็นประการที่ 1 --
คือ สิ่งแรกของการเรียนรู้ รู้แจ้งในกฎแห่งกรรม
คือ ทำสิ่งใด.. ย่อมได้สิ่งนั้น

ทำไปด้วยอำนาจกิเลสตัณหา  / หรือด้วยความรู้ตื่น
-- ผลย่อมส่งผลมาตามนั้น นั่นละ..พระยาธรรมเอย


ฉะนั้น ลูกทั้งหลาย.. ก็จงกลับมาดูที่การกระทำของตน ก็แล้วกัน
ว่าตนนั้น..
ทำกรรมไปด้วย ความรู้ตื่น
หรือทำไปด้วย กิเลสตัณหา
... ก็มาดูตรงนั้น

เจตนาดีแล้ว  เจือปนด้วยกิเลสตัณหาหรือเปล่า
ความดีนั้น  ดีอย่างสมบูรณ์จริงหรือเปล่า
เว้นต่อการไม่ทำความชั่วแล้ว อย่างแท้จริงหรือเปล่า
... ก็ลองมาพิจารณาดู

แล้วก็คอยระมัดระวังถึงการกระทำของตน.. ก็แล้วกันนะ

ต่อไป สิ่งที่ลูกทั้งหลาย.. ควรพิจารณา เพื่อรู้แจ้ง เรียนรู้ในกฎแห่งกรรม - ที่ละเอียดมากเพิ่มขึ้น
ก็คือ..
ทำกรรมใดแล้ว ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น มากกว่าที่ทำ
เช่นดัง การปลูกหว่านเมล็ดข้าวลงในนา
เพียง 1 เม็ด - ย่อมขึ้นมาเป็น 1 ต้น
และ 1 ต้นนั้น - ย่อมออกผลเป็น 1 รวง

คำสมมุตินี้ เป็นเช่นไร.. ลูกเอ๋ย  ?
การทำกรรม.. ย่อมส่งผลให้ได้รับทวีคูณเท่า  เช่นนั้น อย่างนั้นละลูก

เมื่อลูกนั้น ทำกรรมดีก็ตาม - กรรมชั่วก็ตาม..
และเมื่อลูกได้ทำไปแล้ว - เป็นกรรมหนัก หรือกรรมเบาก็ตาม.. ย่อมส่งผลตามนั้น

แต่กรรมทั้งหลาย ย่อมออกดอกออกผล ให้ลูกทั้งหลายได้รับผลมากยิ่งกว่าที่ทำแน่นอน.. ลูกทั้งหลาย
... เพราะกฎธรรมชาติ เป็นเช่นนั้นเอง !

ทำ 1 ออก 100
ปลูก 1 เม็ด - ขึ้น 1 รวง
... เช่นนั้นละ ลูกทั้งหลาย

จงทำความเข้าใจว่า.. ผลการกระทำของเรา  เมื่อเราได้ทำวันนี้ไปแล้ว
-- ผลของมันย่อมส่งมา มากกว่าเดิมทวีคูณเท่า  **

ลูกเอ๋ย..  ฉะนั้น การทำความดี - ก็ย่อมส่งผลมา
การทำความชั่ว - ก็ย่อมส่งผลมา มากกว่าที่ทำ
... เป็นปรกติ เช่นนั้น อย่างนั้นเอง ...

ฉะนั้น  เราควรที่จะระมัดระวัง  และก็ไม่ทำกรรมชั่ว
ทำแต่กรรมที่ดี
-- เพื่อให้ผลแห่งกรรมนั้น.. จะได้ส่งผลกลับคืนมาค้ำหนุนดวงจิตของเราให้สูงยิ่งๆขึ้น
และจะได้บำเพ็ญสู่ความหลุดพ้นทุกข์  ++

ให้ลูกทั้งหลาย.. เข้าใจในเรื่องของกฎแห่งกรรม เช่นนี้นะ
ว่า.. ทำ 1 ออก 100
ปลูกเม็ดเดียว - ก็จะออกมาเป็น 1 รวง  เช่นนั้นละ..

ฉะนั้น.. การทำกรรม จะมีผลมากน้อย
มีตามเหตุที่ตนได้ทำ - คือ เจตนาที่ทำไป
ทำไปแล้ว -- ก็ย่อมออกดอกออกผล มากตามที่กล่าวไปนี้..
ทำ 1 ออก 100

-- การทำกรรมสิ่งใด.. ย่อมมีผลส่งมา ตามมา - ตามที่เราได้ทำ  ++

ลูกทั้งหลายเอ๋ย..  ต่อไป ประการที่ 3 --
สิ่งที่ลูกทั้งหลาย.. ควรที่พิจารณา ให้รู้แจ้งถึงกฎแห่งกรรม
ก็คือ..

ลูกทั้งหลาย..  ควรพิจารณาอย่างนี้ว่า..
ผลกรรมนั้น.. ย่อมส่งผล แม้ขณะปัจจุบัน
และหากผลกรรมนั้น.. เป็นผลกรรมที่หนัก -- ย่อมส่งผลไปถึงอนาคตด้วย  ++

บุคคล ผู้กระทำกรรมบาปอันหยาบช้า  ทำในสิ่งที่ไม่ดี เช่น การฆ่ามนุษย์ก็ตาม..
การฆ่าผู้อื่นแล้ว -- จิตของตนย่อมขุ่นมัว  เร่าร้อน  ตั้งแต่คิดที่จะฆ่า 
/ ในขณะที่ฆ่าแล้ว.. 

และหลังจากฆ่าเสร็จแล้วนั้น.. ตนย่อมเร่าร้อน รุ่มร้อนเป็นฟืนเป็นไฟ
และชีวิตของตน.. ย่อมถูกอำนาจกรรมนั้นครอบงำ ทำให้ตกต่ำ
ติดคุกติดตารางแล้ว ชดใช้กรรมไปแล้ว
-- ชีวิตหลังความตายนั้น.. ยังต้องชดใช้กรรมต่อไปอีก  !!

ผลกรรม ณ ขณะนั้น ก็ส่งผล ณ ปัจจุบันนั้น คือ การคิดฆ่า - ก็เป็นทุกข์
ขณะฆ่า - ก็เป็นทุกข์ 
ฆ่าแล้ว - ก็เป็นทุกข์

ส่งผลอนาคต คือ ถูกจับไปติดคุก - ชดใช้กรรม ทุกข์อยู่เช่นนั้น ++

หลังจากความตายแล้ว.. ยังต้องตกสู่ นรกอเวจี  !!
เมื่อตกสู่นรกอเวจีแล้ว อนาคต - ก็ยังกลับมาเป็นสัมภเวสี ผู้ไม่มีที่เกิด
และก็กว่าจะกลับมาเป็นมนุษย์
กว่าจะกลับมาเป็นมนุษย์ - ก็ต้องมาเป็นสัตว์เดรัจฉาน ให้ถูกคนอื่นเขาฆ่าเขาแกงเสียก่อน..
... จึงค่อยกลับมาเป็นมนุษย์ได้

เป็นมนุษย์ -- ก็ยังต้องถูกผู้อื่นล่อลวงไปฆ่า
เพื่อให้ตนนั้น.. ได้ชดใช้กรรมของตน

เมื่อบุคคลทำกรรมมาก - ก็ใช้มาก
ทำกรรมน้อย - ก็ใช้น้อย
ทำกรรมด้วยเรื่องใด - ก็ได้ใช้ ด้วยเรื่องนั้น
และกรรมมันส่งผลมา ทั้งปัจจุบัน และอนาคต

ลูกทั้งหลายเอ๋ย..  เช่นเดียวกันกับ การทำกรรมดี
คือ การสร้างบุญ สร้างกุศลบารมี น่ะลูก

ลูกริเริ่มในการรักษาศีล ในวันนี้ -- จิตใจของลูกชื่นบาน สดชื่นในวันนี้
ชีวิตของลูก สงบในวันนี้ 
และวันต่อๆไป ก็ทำไปเรื่อยๆ..
-- ชีวิตของลูก.. ก็มีความสงบสุขไปเรื่อยๆ...

ลูกนั้น ได้สั่งสมความดี อยู่ในกรอบของศีล
... ลูกนั้น ก็ย่อมได้รับความสุขจากการรักษาศีล  ทั้งปัจจุบันขณะที่ทำ
และก็ย่อมได้รับผลในอนาคต ก็คือ.. 
ตายไปแล้ว -- ก็ไปเกิดในที่ที่ดี *
ไปเป็นเทวดา  เป็นนางฟ้า
ไปเสวยสุขอยู่ในสวรรค์ชั้นฟ้า  ++

หากกลับคืนมาสู่โลกมนุษย์ -- ลูกนั้นย่อมเกิดมาเป็นมนุษย์ ผู้ที่มีชีวิตที่สงบสุข 
ไม่มีผลกรรมเก่าตามมามาก
-- ทำการสิ่งใด.. ย่อมราบรื่น สมปรารถนา 
ต่อยอดกุศลความดี ย่อมสะดวกสบาย   
และสามารถฝึกฝนตน - ต่อยอดไปได้…

เช่นนี้ละลูก..  ผลกรรมส่งผลทั้งปัจจุบัน
ขณะนั้นที่เราทำอยู่
และไปถึงอนาคตด้วย...

ลูกทั้งหลายเอ๋ย..  เช่นวันนี้ ลูกจะทำสมาธิ
ผลของการทำสมาธิของลูก - มีความสุขตั้งแต่คิดที่จะทำ
ในขณะที่ทำแล้ว ทำสำเร็จ  จิตใจสงบนั้น
และส่งผลไปอนาคต ก็คือ..

ลูกย่อม..
เป็นบุคคลผู้มีฌาน
เป็นบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ  รู้ตื่น มีสติ มีปัญญา
-- จากกรรมไหน.. จากกำลังของสมาธิ  ++

ลูกย่อมต่อยอดความดีได้ ทั้งในปัจจุบัน
อนาคต กลับมาต่อยอดความดี

ลูกทั้งหลาย..  ผลบาปก็ดี / ผลบุญก็ดี..
ย่อมส่งผลทันที ณ ขณะปัจจุบันนั้น   และอนาคต
-- ย่อมทำให้ลูกทั้งหลาย.. สามารถที่จะเข้าถึงความดี เป็นลำดับๆไปได้
ต่อยอดความดีไปได้

และย่อมส่งผลให้ลูกทั้งหลาย.. ตกต่ำลง  จมไปสู่สิ่งที่ชั่วมากขึ้น เลวร้ายมากขึ้นได้
-  ด้วยผลกรรมอันทวีคูณเท่า
-  ด้วยผลกรรม ที่ลูกได้ทำไปตามเหตุนั้น
ส่งผลทั้งปัจจุบัน  และอนาคต
... เช่นนี้ละ ลูกเอ๋ย

นอกจากมันเป็นกรรมเพียงเล็กๆน้อยๆ -- จึงส่งผลมาไว

แต่ลูกเอ๋ย.. ผลกรรมย่อมส่งผล ทั้งปัจจุบัน และอนาคต

ปัจจุบัน คือ ความรู้สึกที่ได้รับ ณ ขณะนั้น  ไม่ว่าสุขหรือทุกข์
อนาคต คือ ผลนั้นจะส่งกลับมา ช่วยเหลือ // ทำลายเรา
ขึ้นอยู่กับว่า เราทำกรรมดี - หรือชั่ว
ผลกรรมนั้น -- ย่อมส่งผลกลับมา เช่นนั้น อย่างนั้นละ.. พระยาธรรม

ต่อไป ประการที่ 4 --
ให้ลูกทั้งหลาย จงทำความเข้าใจ  รู้แจ้งถึงเรื่องกฎแห่งกรรมเช่นนี้เถอะว่า..

บุคคล ผู้ไม่ยึดถือในกรรม -- ย่อมเป็นผู้ไม่รับผลของกรรมนั้นแล้ว..
คือ บุคคลผู้ที่ทำกรรมนั้นไป - สักแต่ว่า
ไม่ได้ทำกรรมชั่วแล้ว 
ทำแต่กรรมดี และทำไปสักแต่ว่า
ไม่ยึดถือในกรรมนั้นแล้ว

-- จึงเป็นบุคคลผู้หลุดพ้นแล้ว 
-- จึงไม่ต้องรับผลอะไรที่เป็นอะไร อีกต่อไป..

กรรมดี - ก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อจิตใจ
กรรมชั่ว - ก็ลดละ ไม่ทำแล้ว..

บุคคลผู้นั้น.. ย่อม
//  เป็นบุคคล ผู้อยู่เหนือกรรม
//  เป็นบุคคลผู้รู้ตื่น - ถึงซึ่งพระนิพพานแล้ว.. ลูกทั้งหลาย

แต่บุคคลผู้ที่ - ไม่ยึดในกรรม 
แต่ตนนั้น ทำในสิ่งที่ชั่ว ทำในสิ่งที่ไม่ดี.. ก็ย่อมได้รับผล

และคนเหล่านั้นว่าไม่ยึด.. แต่จริงๆก็ยึด นั่นแหละลูก !
ยึดในตัวในตน  ยึดในเรา ในของของเรา
ทำกรรมสิ่งใดไป -- กรรมสิ่งนั้นก็ย่อมส่งผล

ส่วนพระอริยเจ้า ในระดับพระอรหันต์นั้น ทำกรรมสิ่งใดแล้ว
ท่านย่อมไม่ได้ไปสนใจในสิ่งที่ทำ
และท่านย่อมมีสติ  มีปัญญามาก *

ย่อมรู้ว่า.. ทำกรรมนี้ไป - ส่งผลอะไร
และกรรมที่ส่งผลกลับมา.. ถึงแม้จะเป็นกรรมดีส่งผลกลับมา
มีสิ่งที่ดีๆ ก่อเกิดมากมาย
-- แต่ท่านก็ไม่ได้ไปสนใจ ในสิ่งเหล่านั้น  ++

ท่านไม่ได้ไปยึด ไปสนใจในผลกรรม
หรือสิ่งที่ส่งผล - ตีกลับมาตามเหตุตามผล

ท่านก็เพียงแต่เข้าใจตามเหตุตามผล ของสิ่งที่ดำเนินไป -  และส่งผลกลับมา
ท่านจะไม่ยึดเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา
ไม่เอาตัวเอาตนนี้ เข้าไปเกี่ยวข้อง

เพราะจิตของท่าน -- ถึงซึ่งความหลุดพ้น รู้ตื่นแล้ว

ฉะนั้นบุคคล ผู้อยู่เหนือกรรมแล้ว
ไม่ยึดดี ยึดชั่ว  ไม่ยึดตัวยึดตน

บุคคลผู้นั้น ย่อมเป็นบุคคลผู้พ้นทุกข์
และผลกรรมใด.. ก็ไม่สามารถทำอะไรกับท่านทั้งหลายเหล่านั้นได้ อีกต่อไป...

เช่นนี้ละ.. พระยาธรรม
ประการที่ 4  ก็ทำความเข้าใจถึงบุคคล ผู้อยู่เหนือกรรม
-- อยู่เหนือ ด้วยการไม่ยึดติด
-- อยู่เหนือ ด้วยการเข้าใจกฎแห่งกรรม
-- อยู่เหนือ ด้วยการเห็นเพียงทุกอย่างนั้น ดำเนินไปตามหน้าที่ของเขา 
... โดยไม่เอาตัวเอาตนนี้ เข้าไปเกี่ยวไปข้องด้วย…

เช่นนี้ละ พระยาธรรม..  บุคคลผู้อยู่เหนือกรรม ก็มี คือ ผู้หลุดพ้นทั้งหลาย
ลูกพอจะเข้าใจเช่นนี้ อย่างนี้ บ้างแล้วหรือยังเล่า 
จงกล่าวธรรมนั้นมาเถอะ.. พระยาธรรมเอย

+ +
พระยาธรรม ::  สาธุ พระพุทธเจ้าค่ะ
ลูกพอจะเข้าใจ  ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงเมตตาแสดงธรรมมา

ลูกเข้าใจเช่นนี้ ตามที่พระองค์ทรงแสดง  และเห็นตามเช่นนั้น
แต่ลูก ก็ยังไม่มั่นใจในรายละเอียด

เมื่อครั้งฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว -- ลูกก็สามารถที่จะเข้าใจได้อย่างละเอียดแล้วว่า
การที่ทำกรรมนั้น  เราทำสิ่งใดไป - ย่อมได้รับผลของสิ่งที่เราทำ 
ด้วยกาย วาจา ใจ
ด้วยเจตนาอันเจือปน ด้วยกิเลสตัณหา
หรือทำไปด้วย ความรู้ตื่น

-- ผลกรรมเหล่านั้น.. ย่อมส่งผลมาเป็นธรรมดา  ++

แล้วก็เรานั้น ควรที่จะทำความเข้าใจว่า..
ผลกรรมทั้งหลายเหล่านั้น.. ย่อมส่งผลมา - เป็นมากขึ้น เป็นทวีคูณเท่า

จากสิ่งที่เราได้ทำ  ปลูก 1 เม็ด.. ย่อมเกิดเป็น 1 รวง
เป็นเช่นนั้น - ตามกฎธรรมชาติ / กฎธรรมดาของวัฏสงสารนี้
เป็นเช่นนั้น อย่างนั้น - ตามกฎแห่งกรรม พระพุทธเจ้าค่ะ

และผลกรรมนั้น -- ย่อมส่งผลให้กับบุคคลผู้ทำ  ณ ขณะปัจจุบัน
และยังส่งผลไปถึงอนาคตด้วย

ย่อมจะมีผลตามมา ทั้งด้านดี / ไม่ดี 
ด้วยเหตุที่ทำ -- ย่อมส่งผลมา พระพุทธเจ้าค่ะ

แล้วก็มีกลุ่มของดวงจิตบุคคล ผู้ที่สามารถฝึกฝนจนเป็นพระอรหันต์  เป็นผู้อยู่เหนือกรรมแล้ว

บุคคลเหล่านี้ - ไม่ต้องเสวยผลกรรม **
ด้วยว่า.. เขาไม่เอาดวงจิตของตนมาข้องเกี่ยว  ไม่เอากรรมทั้งหลายมาข้องเกี่ยวกับตน
จะสักแต่ว่า เห็นกรรม และผลของกรรมนั้น - ดำเนินไปตามหน้าที่ของมัน
-- โดยไม่ยึดเอาถือเอา มาเป็นเรา  เป็นตัวตนของเรา --
** จึงเป็นบุคคลกลุ่มที่ อยู่เหนือกรรม **

... ลูกพอจะเข้าใจเช่นนี้ อย่างนี้แล้ว.. พระพุทธเจ้าค่ะ

กราบขอบพระคุณพระพุทธองค์  ที่ทรงเมตตาแสดงธรรมนี้ให้ลูกได้ฟัง นะเจ้าคะ
วันนี้ ลูกต้องกราบขอลาก่อน  เอาไว้ลูกจะมาเฝ้าฟังธรรมใหม่  พระพุทธเจ้าค่ะ...

สาธุ










« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 11, 2021, 02:15:43 am โดย thanapanyo »