ธรรมะกึ่งพุทธกาล > คัมภีร์ธรรมกึ่งพุทธกาล
Rec-3552 ดับหลงในเกียรติ
(1/1)
thanapanyo:
คัมภีร์ธรรมกึ่งพุทธกาล วันที่ 7 เมษายน 2564
ตอนที่ 135 **ดับหลงในเกียรติ**
+ +
ในเช้าของวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2564 ณ สวนธรรมิกราช
เมื่อท่านพระยาธรรมิกราช ได้กราบนอบน้อมเข้าเฝ้าต่อองค์พระพุทธบิดา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่าน เพื่อเฝ้าฟังธรรมแล้ว จึงได้นอบน้อมเฝ้าทูลถามพระพุทธองค์ท่านไป ดังนี้ว่า...
“ ข้าแต่องค์พระพุทธบิดา องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าขา..
วันนี้ ลูกจะขอเฝ้าทูลถามถึง ข้อธรรม บทที่ 134 น่ะเจ้าค่ะ
การเอาชนะหัวใจประการที่ 4 แห่งการเกิด คือ การเอาชนะการลุ่มหลงในเกียรติ ในชื่อเสียง
ในลาภ ยศ สรรเสริญต่างๆ น่ะเจ้าค่ะ
... เราจะมีวิธีฝึกฝนตนเองอย่างไร - ให้เรานี้ดับความลุ่มหลงในเกียรติได้ ?
เพื่อจะได้ดับหัวใจประการที่ 4 แห่งการเกิดได้ลง พระพุทธเจ้าค่ะ
ขอพระพุทธองค์โปรดทรงเมตตาแสดงธรรมนี้ ให้ลูกได้ฟัง และนำไปพิจารณา เผยแผ่ให้ทุกคนได้รู้ตาม เพื่อถอดถอนความลุ่มหลงในเกียรติด้วยเถิด พระพุทธเจ้าค่ะ ”
- - - -
เอาละนะ พระยาธรรมเอ๋ย.. ก็ดีแล้วละ ถ้าอย่างนั้นก็จงตั้งใจฟังให้ดี
พระยาธรรมเอย.. เรื่องเกียรตินั้น..
- เป็นเรื่อง ที่จะต้องแบกเอาไว้
- เป็นเรื่อง ที่ทำให้ตนนั้นต้องเหนื่อย ต้องทุกข์ต้องทน.. เพื่อที่จะต้องแบกมันเอาไว้
บุคคล ผู้ลุ่มหลงไปในเกียรติ -- ย่อมเป็นบุคคลผู้มีภาระอันหนักหน่วง +
บุคคล ผู้ละต่อความลุ่มหลงในเกียรติได้..
-- ย่อมเป็นบุคคล ผู้มีความเบากาย เบาใจ
-- ย่อมอยู่อย่างเป็นสุข
พระยาธรรมเอย.. ทุกคนต่างมอบชีวิตของตน เอาไว้ให้กับสังคม
เมื่อมีบุคคลเชิดชู ยกย่องเรา
... เราก็
* รู้สึกว่าเป็นเกียรติ
* รู้สึกว่าเป็นสุข
* รู้สึกว่าดี
แต่ในความเป็นจริงแล้ว.. มันเป็นการหลอกให้เราหลงเข้าไปอยู่
ความลุ่มหลงในเกียรติ - เราจะต้องแบกรับเอาไว้ซึ่งเกียรติที่มีนั้น...
กิน - ก็ต้องกินอย่างมีเกียรติ
นอน - ก็ต้องนอนอย่างมีเกียรติ
ทำสิ่งใด - ก็ต้องทำอย่างผู้มีเกียรติ
มันจึงเป็นเรื่องที่ เป็นภาระอันหนักหน่วง ให้กับตัวของบุคคลผู้ยังลุ่มหลงในเกียรตินั้นอยู่ ...
ฉะนั้น พระยาธรรมเอย.. หากลูกทั้งหลาย ต้องการที่จะพิจารณาถึง
การถอดถอนความลุ่มหลงในเกียรติ - ซึ่งเป็นปัจจัย หัวใจแห่งการเกิด ประการที่ 4 นั้น..
ลูกก็ควรที่จะพิจารณา ในประการที่ 1 -- ก็คือ
พิจารณาให้เห็นโทษแห่งการลุ่มหลงในเกียรติ ลูก
การที่เราลุ่มหลงในเกียรตินั้น.. ได้ประโยชน์อะไร ?
การที่เราลุ่มหลงไปในเกียรตินั้น.. มีโทษอะไรบ้าง ?
การลุ่มหลงไปในเกียรติ.. คือ การทำให้ตนรู้สึกว่าตนนั้น เป็นคนที่มีเกียรติ
เป็นคนยิ่งใหญ่
ทำสิ่งใดก็ต้องพองตัวเข้าไว้ ใหญ่เข้าไว้
-- ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว... ตนก็ไม่ได้มีความสุขอยู่ในการสร้างภาพเช่นนั้นเลย
-- ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว.. สิ่งเหล่านั้น เป็นเพียงแค่สิ่งที่หลอกตนว่าดี หลอกผู้อื่นว่าดีเท่านั้น
ประโยชน์ของมันนั้นไม่มี -- มีแต่โทษ !
โทษของมัน ก็คือ เราต้อง..
/ พยายามรักษามันไว้
/ พยายามทำให้ดูว่า มันดีอยู่
/ พยายามที่จะแบกรับมันไว้ แบกมันไว้
-- ไม่ว่าจะเหนื่อยเพียงใด.. ก็ต้องแบกไปๆ
เพื่อให้สังคมยกย่องเชิดชู
เพื่อให้สังคมนั้น เป็นผู้ตัดสินว่าเรานี้ดีแล้ว มีเกียรติอันยิ่งใหญ่
เพื่อให้เรานี้ เอาชีวิตของเรา - มอบให้กับสังคม
และการที่มีชีวิต - โดยให้สังคม เป็นตัวตัดสิน ผิดถูก- ดีชั่ว ให้กับเรานั้น
-- ก็ไม่ได้สมหวัง อยู่ร่ำไป..
คือ ไม่ได้มีแต่คนชื่นชมหรอกลูก
เพราะปรกติแล้ว.. ก็ย่อมมีทั้งคนรัก มีทั้งคนเกลียด เป็นธรรมดา
พระยาธรรมเอย.. แต่การที่เราทำเช่นนั้น
เราต่างหากเล่าลูก ที่เป็นบุคคลผู้หลงไป
พยายามพองตัวออก ให้ใหญ่ที่สุดเท่าที่จะทำได้
และก็เบ่งอยู่อย่างนั้น พองตัวไปเรื่อยๆ
จนสุดท้าย.. ตัวของเราเอง น่ะลูก จะเป็นผู้ทุกข์เอง !!
ฉะนั้น พระยาธรรมเอย..
ทำสิ่งใด.. จงอย่าทำเพียงเพื่อให้บุคคลผู้อื่น ชื่นชม ยกย่องเชิดชู
ทำสิ่งใด.. จงอย่าทำไปเพื่อ ให้ดูว่ามีเกียรติ ให้ดูว่าเรานี้ยิ่งใหญ่ ดีในสายตาผู้อื่น
เพราะสิ่งเหล่านี้ - เป็นเหตุแห่งทุกข์ *
การหลงในเกียรตินั้น.. เป็นเรื่องที่ต้องแบกเอาไว้.. ลูกเอ๋ย
บุคคลเมื่อแบกของหนักอยู่เสมอ ย่อมไม่สบายตัว ไม่สบายกาย ไม่สบายใจเป็นแน่แท้
และบุคคล เมื่อพยายามแบกสิ่งที่มันหนักเกินกำลังของตน
และก็ยังคงพยายามแบกอยู่อย่างนั้น อยู่ร่ำไป
สุดท้าย.. ก็ต้องโดนสิ่งเหล่านั้น ทับจนตาย
พระยาธรรมเอย.. ฉะนั้นการหลงไปในเกียรตินั้น - จึงเป็นสิ่งที่ควรละเสีย **
ไม่เกิดประโยชน์หรอกลูก -- มีแต่โทษ เท่านั้นละ !!
ตนก็หลงไป และพาให้ผู้อื่นหลงไป +
หลงไปมาก.. ก็ไปเอาสิ่งที่ตนคิดว่า ตนนั้นยิ่งใหญ่แล้ว
- ไปเบียดเบียนสร้างกรรมแก่ผู้อื่นอีก
- สร้างเวรสร้างกรรม
- สร้างภพสร้างชาติ
หาที่สิ้นสุดแห่งการเกิด ไม่เจอ ไม่มี
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. ฉะนั้น เรื่องของเกียรติ เป็นเรื่องที่ต้องแบกรับเอาไว้
ยิ่งใหญ่เพียงใด ก็แบกหนักเพียงนั้น…
จงปล่อยไปเสีย
คลายจากความทุกข์ ความกังวล ในการแบกรับ
และจงคลายมันออกจากจิต
... แล้วลูกก็จะเป็นดวงจิตที่เบาสบาย และเป็นอิสระ ++
เหมือนบุคคลผู้ถูกคุมขัง และปล่อยออกจากที่คุมขัง
เหมือนบุคคล ผู้เคยแบกของหนัก
และบัดนี้.. ได้วางภาระอันหนักหน่วงนั้นเอาไว้แล้ว…
-- ย่อมตัวเบา สบายกาย สบายใจ --
... เช่นนี้ละ พระยาธรรม
ประการที่ 1 -- ควร
พิจารณาถึง โทษของการหลงไปในเกียรติ
พิจารณาถึง สิ่งที่มันทำให้เราต้องเหนื่อย ต้องทุกข์ ต้องยากลำบาก
แล้วเราจะได้รู้ว่า..
โทษของมันนั้น - มีมากมาย ++
แต่ประโยชน์ของมันนั้น - กลับไม่มี !
ทีนี้ เมื่อ ถ้าเราเข้าใจเช่นนี้อย่างนี้แล้ว..
เราก็เข้าสู่ ประการที่ 2 -- คือ
ให้ฝึกฝนตนเอง -- ให้อยู่อย่างผู้ไม่มีเกียรติ ไม่มียศ
ไม่จำเป็นต้องแบกเกียรติอะไร ทั้งหมดทั้งสิ้น
อยู่มันไปอย่างคนธรรมดาๆ นี่ละลูก
-- ไม่ต้องมีอะไร ต้องเป็นอะไร ทั้งหมด..
ฝึกฝนตนให้ละ ละการยึดในเกียรติ การให้คุณค่ากับสังคม - ให้มาตัดสินในตน
ชื่นชมก็ดี
ตัดสิน ด้วยคำด่า คำว่าก็ดี
ฝึกฝนตนอยู่ โดย
. ไม่สนใจผู้อื่น
. ไม่สนใจเกียรติ
. ไม่สนใจสังคม
ไม่สนใจอะไร.. ก็ไม่จำเป็นให้ใครต้องมายกย่องเชิดชูเรา
เราอยู่มันไป อย่างธรรมดาๆ อย่างนี้ละลูก
นอนที่ไหนก็ได้ - นอนอย่างผู้ไม่มีเกียรติ
กินที่ไหน กินอะไรก็ได้ - กินอย่างผู้ไม่มีเกียรติ
ไปที่ไหน ทำอะไรก็ได้ - ไปอย่างผู้ไม่มีเกียรติ ทำอย่างผู้ไม่มีเกียรติ
อยู่มันไป ธรรมดาๆอย่างนี้ละลูก
ใครจะด่า ก็ด่าไป
ใครจะชื่นชม ก็ชื่นชมไป
... ก็แล้วแต่ - มันเป็นเรื่องของเขา
แต่เราฝึกอยู่ อย่างไม่มีตัวไม่มีตน
ไม่ต้องมีอะไร เป็นอะไรทั้งหมดละลูก
อยู่แบบสบายๆ - แบบที่ไม่ต้องแบกรับ เรื่องของเกียรติเอาไว้
ไม่ต้องพยายามทำ -- เพื่อให้ใครพอใจ เพื่อให้ถูกใจใคร
ไม่ต้องไปสนใจอะไรทั้งหมด
ฝึกตนให้เป็นผู้อยู่ อย่างผู้ไม่มีเกียรติ ลูก
… แล้วลูกก็จะรู้ว่า มันเบา มันสบายขนาดไหน
-- กับการที่อยู่โดยไม่ต้องแบกรับ เรื่องของเกียรติ
เอาไว้ให้สังคมนั้น ชื่นชมยกย่อง
-- แล้วต้องทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แบบปลอมๆ เบ่งไป แบกรับไปนั้น...
มันเป็นเรื่องที่สบายขนาดไหน.. ก็ลองพิจารณาดู
ลองฝึกฝนตนดู
ลองอยู่อย่างผู้ไม่มีเกียรติดู ว่ามันจะสบายขนาดไหน…
พระยาธรรมเอย.. เมื่อเราฝึกเช่นนี้ เราก็จะมองเห็นความแตกต่างของ การใช้ชีวิตอย่างมีเกียรติ
ว่า ต้องแบกรับ ต้องพยายามมากเพียงใด ทุกข์เพียงใด..
-- กับการที่เราอยู่ - ด้วยการเป็นตัวของตนเอง
-- ฝึกฝนประพฤติปฏิบัติ ทำความดีตามใจของตนเอง
โดยไม่ได้ไปสนใจเรื่องของเกียรติ เรื่องของการชื่นชม สรรเสริญจากสังคม
การยกย่องต่างๆ
เรื่องชื่อเรื่องเสียงอะไร.. ไม่ต้องไปสนใจมัน !
เราอยู่แบบตัวตนของเรา
อยู่แบบธรรมดา ธรรมชาติ ที่เราเป็น
ดำเนินทุกอย่าง - ไปตามเหตุ ตามหน้าที่
ตามกำลังของเราที่เราควรจะทำ และที่เราพอจะทำได้
เราก็แค่ดำเนินไปๆ..
จึงไม่ต้องมีอะไร ที่จะต้องแบกไว้ เพื่ออะไรทั้งหมด
เราก็จะรู้ว่า สบายเพียงใด เบาเพียงใด
.... เช่นนี้ละ พระยาธรรม
เมื่อเราลองฝึกอยู่ อย่างผู้ไม่มีเกียรติแล้ว..
-- เราก็จะเห็นความแตกต่าง แล้วก็เข้าใจเองนะ --
ต่อไป ประการที่ 3 --
ให้เราฝึกฝนตนเอง ให้เห็นว่า.. ความหลุดพ้นนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด
ไม่มีอะไรในวัฏสงสารนี้หรอกลูก จะสำคัญมากไปกว่า ความหลุดพ้น
... เพราะที่อยู่ของคนเรา หรือดวงจิตทั้งหลาย - มีอยู่ 2 ที่เท่านั้น *
ที่ที่ 1 คือ ในวัฏสงสารนี้..
เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว.. ก็ต้องถูกอำนาจแห่งกิเลสตัณหาครอบงำ
พาให้สร้างกรรม เวียนว่ายตายเกิด - ตามกรรมของตน
หาที่สิ้นสุดไม่เจอ..
--วนตายวนเกิด วนทุกข์อยู่อย่างนี้ไม่รู้จบ ++
ที่ที่ 2 ก็คือ การเข้าสู่นิพพาน - แดนแห่งความพ้นทุกข์
ทีนี้ เมื่อเราไปสู่แดนแห่งความพ้นทุกข์ -- เราก็ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
ไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของ กฎแห่งกรรม / กฎไตรลักษณ์
ไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจของกิเลส และกรรม
ไม่ต้องตกอยู่ใต้อำนาจแห่งกายนี้ การเวียนวน เวียนว่ายตายเกิด
จิตของเราย่อมเป็นอิสระ เบาสบาย
ว่าง สว่างไสว อยู่ในแดนแห่งความพ้นทุกข์
ไม่มีอะไรใหญ่ / ไม่มีอะไรเล็ก
ไม่มีอะไรต้องเป็นกฎเกณฑ์ บังคับอะไรอีกต่อไป
จิตนั้นอยู่ สักแต่ว่า..
มี ก็เหมือนไม่มี
ไม่มี ก็เหมือนมี
มี กับไม่มี - จึงเสมอเหมือนกัน
อยู่ในแดนแห่งความหลุดพ้น ไม่ต้องทุกข์อีก
เมื่อจิตของเรา มีที่อยู่เพียงแค่ 2 ที่
เกิดขึ้นแล้ว - แตกดับไม่ได้ สลายไม่ได้
นอกจากเราเลือกเอาว่า.. จะอยู่ในวัฏสงสารนี้
อยู่กับโลกสมมุติจอมปลอมนี้ไป
หรือเราจะไปสู่พระนิพพาน - เพื่อหลุดพ้น **
... เราก็ลองพิจารณาดู
และจงฝึกฝนตน ให้รู้คุณค่าแห่งความหลุดพ้นว่า..
ความหลุดพ้นนั้น ทรงคุณค่า / มีคุณค่ามากยิ่งกว่าสิ่งใดในวัฏสงสาร
เพราะความพ้นทุกข์นั้น.. เป็นของเที่ยงแท้ เป็นของยั่งยืน
-- และสุขแล้วนั้น.. ไม่มีทุกข์อีกต่อไป ++
แต่การหลงอยู่กับสิ่งใด ก็ตาม
หลงอยู่กับลาภ หลงอยู่กับยศ
หลงอยู่กับเกียรติ กับสิ่งที่เรานี้คิดว่าดี มากเพียงใด..
สุดท้าย.. มันก็เป็นเพียงแค่สิ่งที่ครอบงำ พาให้เราจมอยู่.. เท่านั้นละ
จะมีเกียรติยิ่งใหญ่เพียงใด.. ก็
// ไม่พ้นอำนาจของ กฎแห่งกรรม
// ไม่พ้นอำนาจของ ความไม่เที่ยงแท้
จะใหญ่ค้ำฟ้าเพียงใด เมื่อ..
ถึงเวลาตาย - ก็ต้องตาย
ถึงเวลาตกต่ำลำบาก - ก็ต้องเป็นไปตามนั้น
เพราะทุกคน จะไม่เป็นไปตามความยิ่งใหญ่ -- แต่ทุกคนจะเป็นไปตามกรรมของตน
เมื่อหมดเหตุ - ทุกอย่างก็หมดไป
กายนี้ก็ดี ชื่อเสียง เกียรติยศทุกอย่าง อะไรก็ตามละลูก
สุดท้าย.. มันก็เป็นของปลอม ของไม่เที่ยงแท้ แตกดับสลายไป ++
ของดีจริง คือ การหลุดพ้นต่างหากเล่า **
เมื่อลูกฝึกฝนตนเอง พิจารณาเช่นนี้ จนเห็นว่า..
“ ความพ้นทุกข์นั้น.. เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าสิ่งใด ”
อะไรจะยิ่งใหญ่เพียงใด ในวัฏสงสารนี้ ก็..
-- เป็นเรื่องของความทุกข์
-- เป็นเรื่องจอมปลอม
-- เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยงแท้
สุดท้าย.. ก็ต้องแตก ต้องดับ ต้องสลายไป...
ทีนี้ เมื่อเราได้พิจารณาถึง ความเป็นจริงในประการนี้แล้ว
-- ก็จะทำให้เรามีความมุ่งมั่น.. ที่จะไปสู่ความพ้นทุกข์ให้ได้ ++
เราก็จะเข้าสู่ ประการที่ 4 --
คือ เมื่อเราเห็นความหลุดพ้นนั้น.. เป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด ยิ่งกว่าสิ่งใด
ไม่มีอะไรในวัฏสงสารนี้ เปรียบเทียบได้..
เราย่อมเห็นว่า.. ทุกสิ่งทุกอย่างในวัฏสงสารนี้ - ไม่มีค่าอะไรอีกต่อไป
ไม่ว่า จะเป็นตัวเรา ตัวเขา สิ่งของข้าวของ ลาภ ยศ สรรเสริญ
สรรเสริญ นินทา หรืออะไรก็ตาม
... ย่อมไม่มีอะไร เป็นอะไร ทั้งนั้นละ
ทุกสิ่ง ก็เป็นเพียงแค่ สมมุติมา - สมมุติไป เท่านั้น
เกิดขึ้น- ตั้งอยู่- ดับไป
มีแต่จิตผู้ไม่รู้ตามความเป็นจริงเท่านั้นละ.. จึงรีบแย่งกันเอาของปลอมๆ มาเป็นของตน
แล้วก็แบกรับกันเอาไว้
ดิ้นรนกันไป ทุกข์ทนกันไป
จิตที่รู้ตื่นแล้ว.. ย่อมเห็นสิ่งทั้งหลาย ที่อยู่ตรงหน้า -- เป็นเพียงของจอมปลอม
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. ฉะนั้น เมื่อถึงซึ่งความหลุดพ้นแล้ว
ทุกสรรสิ่งในวัฏสงสาร - ย่อมไม่มีค่า *
การจะหลงในเกียรติ ในยศ ในศักดิ์ศรี
หลงไปในสิ่งใดก็ตาม.. ย่อมไม่มี
การที่เรานี้.. จะถอดถอนการหลงในเกียรติ - ก็ย่อมสามารถทำได้
ฉะนั้น ให้ลูกทั้งหลาย.. จงพิจารณาถึงโทษของการหลงไปในเกียรติ ว่า..
การหลงเกียรตินั้น คือ การแบกรับเอาไว้
เป็นสิ่งที่ทำให้หนัก ให้ทุกข์
ให้จมอยู่ หลงอยู่ เป็นทุกข์อยู่ ตลลอดไป..
ลูกทั้งหลายเอ๋ย.. การที่เรานี้ รู้แล้วว่า เกียรตินั้น..
เป็นสิ่งที่ทำให้เราหนักหน่วง
เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องทุกข์
เราก็ลองอยู่อย่างผู้ไม่มีเกียรติ
ลองฝึกอยู่.. อย่างผู้ที่ไม่ต้องแบกรับอะไรดู ..ว่าสบายเพียงใด
ทีนี้ ฝึกเช่นนี้แล้ว.. ก็ลองฝึกดู ให้เห็นความหลุดพ้น ว่า..
สำคัญมากยิ่งกว่า.. การที่เราไปหลงอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในวัฏสงสารนี้.. เป็นแน่แท้
ฝึกจิตให้เห็นความหลุดพ้น ว่าสำคัญ
เมื่อเข้าถึงความหลุดพ้นแล้ว
-- ทุกสิ่งทุกอย่างในวัฏสงสารนี้ ย่อมไม่มีค่าอีกต่อไป...
การถอดถอนความลุ่มหลง - หลงไปในเกียรตินั้น ย่อมทำได้สำเร็จในที่สุด !
หัวใจประการที่ 4 แห่งการเกิดในวัฏสงสาร.. ย่อมไม่มี *
พระยาธรรมเอย.. เมื่อลูกทั้งหลาย ค่อยๆฝึกฝนตน
ถอดถอนเรื่องของ ความหลง ความอยาก
เรื่องของกาม เรื่องของกิน และเรื่องของเกียรติ
ลูกทั้งหลาย.. ฝึกฝน ขัดเกลาเจียระไนสิ่งเหล่านี้.. ให้มันหมดไปจากลูก
-- หัวใจแห่งการเกิด - ย่อมไม่มี --
... ลูกย่อมพ้นทุกข์ได้ เป็นแน่แท้ ++
เช่นนี้ละ พระยาธรรมเอย.. พอจะเข้าใจบ้างหรือยังเล่า
จงกล่าวธรรมนั้นมาเถอะ พระยาธรรม
+ +
พระยาธรรม :: สาธุ พระพุทธเจ้าค่ะ
กราบขอบพระคุณพระพุทธองค์ ที่ทรงเมตตาแสดงธรรมนี้ให้ลูกได้ฟัง นะเจ้าคะ
ลูกพอจะเข้าใจแล้ว พระพุทธเจ้าค่ะ
ลูกจะน้อมเอาธรรมนี้ ไปฝึกฝนประพฤติปฏิบัติ ให้เข้าใจกระจ่างแจ้ง
แล้วถ่ายทอดธรรมนี้ เผยแผ่ธรรมนี้ ให้กับดวงจิตทั้งหลาย ได้พิจารณาให้รู้แจ้งตาม
เพื่อทุกคน จะได้เลิกแบกความมีเกียรติของตน
ทุกคน จะได้ไม่ต้องแบกรับอะไรอีกต่อไป...
แล้วจะได้อยู่อย่างสุขสบาย เบาสบาย
เข้าถึงความหลุดพ้น พระพุทธเจ้าค่ะ
วันนี้ ลูกต้องกราบขอลาก่อนนะเจ้าคะ เอาไว้ลูกจะมาเฝ้าฟังธรรมใหม่ พระพุทธเจ้าค่ะ...
สาธุ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
Go to full version